ผู้เขียน หัวข้อ: ข้อมูลโรค: หัวใจวาย/หัวใจล้มเหลว (Congestive heart failure/CHF)  (อ่าน 135 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 226
  • รับจ้างโพสต์เว็บ แพ็ครวมพิเศษ
    • ดูรายละเอียด
ข้อมูลโรค: หัวใจวาย/หัวใจล้มเหลว (Congestive heart failure/CHF)
« เมื่อ: วันที่ 24 ธันวาคม 2023, 00:49:10 น. »
หัวใจวาย (หัวใจล้มเหลว ก็เรียก) หมายถึง ภาวะที่หัวใจทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไม่ได้หรือได้ไม่เต็มที่ ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ และมีเลือดคั่งในปอด ตับ แขนขา และอวัยวะต่าง ๆ

อาการอาจเกิดขึ้นฉับพลันทันที หรือค่อยเป็นค่อยไปอย่างเรื้อรังก็ได้ แล้วแต่สาเหตุที่พบ

โรคนี้ถือเป็นภาวะร้ายแรง หากรักษาไม่ทันอาจตายได้ ในรายที่เป็นนาน ๆ อาจมีตับแข็งแทรกได้


สาเหตุ

มักเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคหัวใจที่เกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจขาดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคหัวใจรูมาติก โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือจากโรคเอสแอลอี โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ (cardiomyopathy) จากการดื่มแอลกอฮอล์จัด หรือจากโรคเบาหวาน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากโรคความดันโลหิตสูง โรคปอดเรื้อรัง (เช่น ถุงลมปอดโป่งพอง หลอดลมพอง หืด) ภาวะไตวายเรื้อรัง คอพอกเป็นพิษ ภาวะโลหิตจางรุนแรง โรคเหน็บชา ที่มีความผิดปกติของหัวใจร่วมด้วย การให้น้ำเกลือหรือให้เลือดเร็วเกินไป


อาการ

ในระยะแรก มีอาการหอบเหนื่อยเฉพาะเวลาออกแรงมากหรือทำงานหนัก และอาจมีอาการไอและหายใจลำบากในตอนดึก ๆ ช่วงหลังเข้านอนแล้ว จนต้องลุกขึ้นนั่ง บางรายอาจมีอาการหอบคล้ายเป็นหืด ต้องลุกไปสูดหายใจที่ริมหน้าต่าง จึงรู้สึกค่อยยังชั่ว

บางรายอาจรู้สึกจุกแน่นอึดอัดในท้องหรือลิ้นปี่ ปวดบริเวณชายโครงด้านขวา บวมที่ข้อเท้า

เมื่อเป็นมากขึ้น จะมีอาการหอบเหนื่อยมากขึ้น แม้ทำงานเพียงเล็กน้อยหรืออยู่เฉย ๆ ก็รู้สึกหายใจลำบาก อ่อนเพลีย นอนราบไม่ได้ ต้องนอนหรือนั่งพิงหมอนสูง ๆ (หมอนหลายใบ) ปัสสาวะออกน้อย หรือบางรายอาจปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน เท้าบวมขึ้น และอาจมีท้องบวม (ท้องมาน) โดยมากมักจะไม่บวมที่หน้าหรือหนังตาเช่นที่พบในผู้ป่วยเป็นโรคไต

เมื่อเป็นรุนแรง อาจมีอาการไอรุนแรง และมีเสมหะเป็นฟองสีแดงเรื่อ ๆ อาจมีอาการตัวเขียว ริมฝีปากเขียว กระสับกระส่าย ใจสั่น และหากไม่ได้รับการรักษาได้ทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้

อาการนอนราบไม่ได้ (นอนหมอนหลายใบ)


ภาวะแทรกซ้อน
ถ้าเป็นเรื้อรังอาจมีตับแข็งแทรกซ้อนได้ อาจมีอาการหืดจากโรคหัวใจ (cardiac asthma)


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้

หอบ นอนราบไม่ได้ หลอดเลือดที่คอโป่ง เท้าบวม กดมีรอยบุ๋ม บางรายอาจมีท้องมาน

ชีพจรเต้นเร็ว บางครั้งอาจตรวจพบชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอ

ใช้เครื่องฟังตรวจปอดมีเสียงกรอบแกรบ (crepitation) ทั้ง 2 ข้าง ซึ่งมักจะฟังชัดที่บริเวณใต้สะบัก บางรายอาจได้ยินเสียงวี้ด (wheezing) คล้ายหืดร่วมด้วย


บางรายใช้เครื่องฟังตรวจหัวใจอาจได้ยินเสียงหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ หรือมีเสียงฟู่ (murmur)

บางรายอาจมีความดันโลหิตสูง หรือมีอาการอื่น ๆ แล้วแต่สาเหตุที่เป็น

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจเลือด (ดูภาวะซีด ทดสอบการทำงานของไต อิเล็กโทรไลต์ เป็นต้น) ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ถ่ายภาพหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (echocardiogram) เป็นต้น


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล ให้ออกซิเจน จำกัดปริมาณน้ำที่ดื่ม ให้ยาขับปัสสาวะร่วมกับยาต้านเอซ เช่น อีนาลาพริล (enalapril) หรือแคปโทพริล (captopril)

ถ้ายังไม่ได้ผล อาจให้ยาช่วยหัวใจทำงาน เช่น ไดจอกซิน (digoxin) เพิ่มเติม

นอกจากนี้ก็ให้ยารักษาโรคที่เป็นสาเหตุร่วมด้วย เช่น

ถ้าเกิดจากโรคความดันโลหิตสูง ก็ให้ยาลดความดัน

ถ้าเกิดจากโรคเหน็บชา ก็ให้วิตามินบี 1

ถ้าซีด อาจต้องให้เลือด และยาบำรุงโลหิต

ถ้าเกิดจากโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หรือโรคหัวใจรูมาติก อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

ถ้าเกิดจากโรคหัวใจขาดเลือด อาจต้องรักษาด้วยการทำบอลลูน หรือผ่าตัดบายพาส


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการหอบเหนื่อย มีอาการไอและหายใจลำบากในตอนดึก ๆ หายใจอึดอัดเวลานอนราบ หรือ รู้สึกแน่นอึดอัดในอกร่วมกับเท้าบวม ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว


เมื่อตรวจพบว่าเป็นหัวใจวาย ควรดูแลตนเอง ดังนี้

1. ดูแลรักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 

2. ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด

3. ควรปฏิบัติตัว ดังนี้

    งดแอลกอฮอล์ บุหรี่
    ห้ามตรากตรำงานหนัก
    งดอาหารเค็ม เพื่อลดบวมและป้องกันอาการกำเริบ
    หลีกเลี่ยงการซื้อยากินเอง เพราะอาจมีผลทำให้โรคกำเริบ หรือเกิดปฏิกิริยาด้านลบกับยาที่ใช้รักษาอยู่ก่อน

4. ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการเจ็บหน้าอก ใจสั่น หอบเหนื่อย หายใจอึดอัดเวลานอนราบ หรือเท้าบวม
    มีอาการไม่สบาย เช่น มีไข้สูง ปวดท้องมาก ท้องเดินมาก อาเจียนมาก หรือหน้าตาซีด เป็นต้น
    ขาดยาหรือยาหาย
    กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ


การป้องกัน

เนื่องจากหัวใจวายมักเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคต่าง ๆ จึงควรป้องกันหรือรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด เบาหวาน ความดันโลหิตสูง คอพอกเป็นพิษ เป็นต้น   

เมื่อเคยเกิดอาการหัวใจวาย ควรป้องกันไม่ให้กำเริบซ้ำ โดยการดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด


ข้อแนะนำ

1. ผู้ป่วยโรคหัวใจ บางครั้งใช้เครื่องฟังตรวจปอดอาจมีเสียงวี้ด (wheezing) คล้ายโรคหืด เรียกว่า อาการหืดจากโรคหัวใจ (cardiac asthma) ดังนั้นก่อนให้การรักษาผู้ป่วยที่สงสัยเป็นหืด ต้องแน่ใจว่าไม่มีอาการบวม ตับโต หรือมีประวัติของโรคหัวใจ

2. ผู้ป่วยที่กินยาช่วยหัวใจทำงาน เช่น ไดจอกซิน ต้องระวังหากกินเกินขนาดหรือในภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ อาจมีพิษต่อหัวใจได้ อาการเป็นพิษ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่าตาลาย ชีพจรเต้นช้ากว่านาทีละ 60 ครั้ง ดังนั้นถ้าผู้ป่วยกินยาขับปัสสาวะ ซึ่งอาจทำให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ แพทย์อาจต้องให้กินยาโพแทสเซียมคลอไรด์ ร่วมด้วย




ข้อมูลโรค: หัวใจวาย/หัวใจล้มเหลว (Congestive heart failure/CHF) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/disease-conditions