คุณพ่อคุณแม่หลายคนคงเคยชินกับการนอนกัดฟันของลูกน้อย และคิดว่าปล่อยไว้ไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวก็หายไปเอง แต่เมื่อถึงวัยอันควรแล้วลูกยังนอนกัดฟันอยู่เหมือนเดิม อาจมีผลเสียต่อตัวเด็กเองในอนาคตด้วย วันนี้เรามีความรู้ดีๆ เกี่ยวกับภาวะเด็กนอนกัดฟันและวิธีแก้มาฝากกันครับ
ทำไมเด็กส่วนใหญ่ถึงนอนกัดฟัน
แม้ว่าเป็นภาวะที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่อาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการนอนกัดฟันเมื่อมีฟันงอกขึ้นมา โดยเริ่มมีอาการเมื่อเด็กมีอายุ 1 ปีขึ้นไป, สภาพปัญหาฟันของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เด็กบางคนอาจมีฟันเรียงกันผิดปกติ, ฟันซ้อนเก, เป็นโรคปริทันต์หรือเหงือกอักเสบ, โรคลมชัก, โรคสมาธิสั้น, ยาบางชนิดที่เด็กทาน นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความเครียดสะสมของเด็กก่อนเข้านอนเข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย
สังเกตอาการลูกนอนกัดฟันได้ด้วยตัวคุณพ่อคุณแม่เอง
ฟันลูกดูสึก มีรอยบิ่น
เสียวฟันเมื่อลูกดื่มน้ำร้อนและน้ำเย็น
ได้ยินเสียงดังติดขัดขณะที่ลูกอ้าและหุบปาก
ได้ยินเสียงลูกหายใจทางปากชัดเจน
ลูกปวดหัวและรู้สึกเสียวฟันง่ายกว่าปกติ
ลูกปวดบริเวณหน้าหูหรือกกหู
หงุดหงิดง่าย นอนหลับไม่เต็มอิ่ม
ข้อเสียของการปล่อยให้เด็กนอนกัดฟัน
เด็กจะรู้สึกเสียวฟันง่าย ไม่มีความสุขในการทานอาหาร
เด็กจะรู้สึกปวดเมื่อยบริเวณข้อต่อขากรรไกร อาจลามไปถึงปวดหูด้วย
อาจเกิดแผลในช่องปากง่ายขึ้น เนื่องจากเด็กจะตอบสนองความเจ็บปวดด้วยการกัดปากตัวเอง
เด็กหายใจลำบาก ทำให้ต้องหายใจผ่านทางปากแทน
หากฟันสึกไปจนถึงโพรงประสาทฟันอาจเกิดการติดเชื้อและมีหนองที่ปลายรากฟัน สังเกตได้จากฟันลูกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองชัดเจน ฟันบวมมีหนอง หรือคางบวม เสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือด
มีวิธีแก้ปัญหาเด็กนอนกัดฟันบ้างมั้ย
1. ใส่เฝือกสบฟัน
เฝือกสบฟันเป็นเครื่องมือสำหรับลดอาการปวดของข้อต่อขากรรไกรและกล้ามเนื้อบดเคี้ยวที่เกิดจากปัญหากัดฟันทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัวของเด็กเอง อีกทั้งช่วยป้องกันฟันสึกขณะกัดฟันด้วย เฝือกสบฟันมีทั้งหมด 3 แบบ ได้แก่
1.1 เฝือกสบฟันแบบอ่อน
ใช้ในกรณีฉุกเฉินหากเด็กรู้สึกปวดมาก เหมาะสำหรับใช้ชั่วคราวเพื่อรอทำเฝือกสบฟันชนิดแข็ง
ใช้ป้องกันฟันสึกกร่อนจากการเล่นกีฬา เช่น ว่ายน้ำ, บาสเกตบอล, ฟุตบอล
เหมาะกับเด็กอายุน้อยเนื่องจากไม่ขัดขวางการเจริญเติบโตของขากรรไกรเด็ก
ข้อเสียของเฝือกสบฟันชนิดนี้คือวัสดุนิ่มเปราะหักง่าย, ไม่ทนต่อการใช้งาน จึงต้องเปลี่ยนบ่อย
1.2 เฝือกสบฟันแบบแข็ง
เนื่องจากผลิตจากพลาสติกแข็ง จึงมีอายุใช้งานนานกว่าเฝือกสบฟันชนิดอ่อน
เหมาะกับเด็กที่นอนกัดฟันหรือกัดเป็นประจำจากความคุ้นชิน รวมถึงเด็กที่มีข้อต่อขากรรไกรผิดปกติ
ช่วยให้สบฟันดีขึ้น กล้ามเนื้อผ่อนคลาย
แต่ไม่เหมาะกับเด็กเล็ก เพราะใช้เวลาในการทำเฝือกนานและอาจขวางการเจริญเติบโตของขากรรไกร
2. หากิจกรรมทำร่วมกับลูกเพื่อไม่ให้ลูกเครียด
เนื่องจากความเครียดก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กนอนกัดฟัน ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตและพูดคุยกับลูกเป็นประจำเพื่อให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายจิตใจมากขึ้น ทั้งนี้อาจหากิจกรรมทำร่วมกันกับลูกก่อนนอนเพื่อเป็นการผ่อนคลายทั้งตัวคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อยเองด้วย ไม่ว่าจะเป็นการร้องเพลง, อ่านนิทานก่อนนอน หรือแม้แต่การนอนกอดลูกหรืออุ้มลูกกล่อมนอนเบาๆ จะทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายและมีความสุขก่อนเข้านอน ส่งผลให้ไม่ต้องนอนกัดฟันอีก ทั้งนี้ไม่ควรเป็นกิจกรรมที่หนักเกินไปเพราะอาจทำให้ลูกเหนื่อยจนนอนไม่ได้อีกเช่นกัน
3. เปลี่ยนยาที่ทาน
หากสังเกตและพบว่าลูกนอนกัดฟันจากการทานยารักษาโรคบางชนิด อาจต้องขอคำแนะนำของคุณหมอเพื่อขอเปลี่ยนยาที่ไม่มีผลข้างเคียงต่อการนอนของลูกน้อย หรืออาจหาวิธีการรักษาแบบอื่นต่อไป
4. พาลูกเข้านอนตรงเวลา
การกำหนดเวลานอนให้ลูกได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ และการสร้างบรรยากาศในห้องนอนลูกให้น่านอน จะช่วยให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายและนอนหลับเต็มอิ่ม ส่งผลต่อพัฒนาการทางด้านร่างกายและด้านอารมณ์ให้เติบโตเต็มที่ เป็นเด็กอารมณ์ดี ไม่เครียดง่ายอีกด้วย
5. ฝึกบริหารกราม
เนื่องจากฟันบนและล่างจะสัมผัสแตะกันขณะเคี้ยวอาหาร หรือเปล่งคำบางคำเท่านั้น แต่หากฟันแตะกันตลอดเวลาหรือเกิดการเกร็งลิ้น อาจทำให้รู้สึกเมื่อยบริเวณขากรรไกร ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกฝึกผ่อนคลายริมฝีปากโดยพูดคำว่า M และ N เพื่อให้ริมฝีปากฟันและลิ้นอยู่ในท่าที่ผ่อนคลายโดยอัตโนมัติ
6. งดทานอาหารก่อนนอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
อย่าปล่อยให้ลูกทานอาหารมื้อหนักก่อนนอน 3 ชั่วโมง หากลูกหิวแนะนำให้ดื่มนมอุ่นๆ แทน นอกจากจะช่วยคลายหิวแล้วยังช่วยให้นอนหลับสบายมากขึ้นด้วย
7. ศัลยกรรมช่องปาก
หากคุณหมอวินิจฉัยแล้วว่าเกิดจากฟันเสียหายอย่างหนัก หรือฟันสึกอาจเกิดอาการเสียวฟัน ทำให้เคี้ยวอาหารลำบาก คุณหมอฟันอาจให้รักษาด้วยการกรอฟันหรือครอบฟัน เพื่อซ่อมแซมฟันที่เสียหายจากการกัดฟัน
จัดฟันเด็ก: เด็กนอนกัดฟัน ปัญหาฟันอันดับต้นๆ ที่ไม่ควรปล่อยไว้เรื้อรัง อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://www.idolsmiledental.com/การจัดฟันเด็ก/