ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประจำบ้าน: โรคแพนิค (Panic Disorder)  (อ่าน 33 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 225
  • รับจ้างโพสต์เว็บ แพ็ครวมพิเศษ
    • ดูรายละเอียด
หมอประจำบ้าน: โรคแพนิค (Panic Disorder)
« เมื่อ: วันที่ 6 ตุลาคม 2024, 12:53:53 น. »
หมอประจำบ้าน: โรคแพนิค (Panic Disorder)

โรคแพนิค (Panic Disorder) คือ ภาวะตื่นตระหนกต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลหรือหาสาเหตุไม่ได้  เนื่องจากผู้ป่วยจะเกิดอาการแพนิค (Panic Attacks) หรือหวาดกลัวอย่างรุนแรงได้ตลอดเวลา  เช่น หัวใจเต้นเร็ว หายใจไม่ออก เวียนศีรษะ เหงื่อออกมาก และรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ แม้ตัวเองจะไม่ได้เผชิญหน้าหรือตกอยู่ในสถานการณ์อันตรายก็ตาม

คนทั่วไปอาจเกิดอาการแพนิคได้ แต่อาการจะเกิดไม่บ่อยและหายไปเองเมื่อเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดอาการแพนิคจบลงหรือผ่านพ้นไปแล้ว  แต่ผู้ที่เป็นโรคแพนิคจะมีอาการของภาวะวิตกกังวลร่วมกับอาการแพนิคอย่างกะทันหันที่เกิดขึ้นบ่อย ซึ่งอาจเกิดทำให้เกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันในระยะยาว และอาจมีปัญหาสุขภาพจิตอื่นร่วมด้วย ผู้ป่วยแพนิคจึงควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม


สาเหตุของโรคแพนิค

โรคแพนิคมักพบได้บ่อยในวัยรุ่นตอนปลายหรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น สาเหตุของโรคแพนิคระบุได้ยากเช่นเดียวกับปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆโรคทางจิตเวช-7-กลุ่มที่ค แต่คาดว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคแพนิค มีดังนี้


1. การถ่ายทอดทางพันธุกรรม

หากคนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคแพนิคหรือปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของการป่วยเป็นโรคแพนิคได้ โดยผู้ป่วยอาจได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากพ่อหรือแม่ หรือได้รับจากทั้งพ่อและแม่


2. ความผิดปกติของสมอง

โดยทั่วไปแล้ว สมองจะมีสารเคมีที่เรียกว่าสารสื่อประสาท หากสารสื่อประสาทภายในสมองไม่สมดุล อาจทำให้เกิดอาการแพนิคได้ ทั้งนี้ โรคแพนิคอาจเกิดจากการทำงานของสมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการตอบสนองแบบสู้หรือหนีของร่างกาย (Fight or Flight) เนื่องจากหัวใจจะเต้นเร็วขึ้นเมื่อเผชิญหน้ากับเหตุการณ์อันตราย


3. โรคจิตเวช และเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ

ผู้ที่มีความเครียดรุนแรง มีโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคกลัว (Phobias) หรือโรคจิตเวชอื่น ๆ รวมถึงเคยผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงที่ในชีวิต อาจส่งผลให้เกิดโรคแพนิคได้

ตัวอย่างเช่น การถูกล่วงละเมิดทางเพศ ทำร้ายร่างกาย การหย่าร้าง การประสบอุบัติเหตุร้ายแรง การสูญเสียหรือพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก ผู้ป่วยจะรู้สึกหวาดกลัวหรือตื่นตระหนกหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น บางคนอาจเกิดอาการแพนิคยาวนานเป็นปี จนนำไปสู่การป่วยเป็นโรคแพนิคในภายหลัง


4. สาเหตุอื่น

ผู้ที่มีแนวโน้มเครียดง่าย มีความคิดในแง่ลบ หรือมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ใช้สารเสพติด ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีนปริมาณมาก รวมทั้งสูบบุหรี่เป็นประจำ อาจเสี่ยงต่อป่วยเป็นโรคแพนิคได้


อาการของโรคแพนิค

อาการแพนิคจะรุนแรงกว่าความรู้สึกเครียดและวิตกกังวลทั่วไป โดยเกิดขึ้นอย่างกะทันหันได้ตลอดเวลา อาการแพนิคในแต่ละครั้งมักเกิดขึ้นเป็นเวลา 10–20 นาที บางรายอาจเกิดอาการแพนิคนานเป็นชั่วโมง โดยผู้ป่วยโรคแพนิคจะเกิดอาการ ดังนี้

    หัวใจเต้นเร็ว
    หายใจไม่ออก รู้สึกเหมือนขาดอากาศหายใจและสำลัก
    หวาดกลัวอย่างรุนแรงจนร่างกายขยับไม่ได้
    เวียนศีรษะ คลื่นไส้
    เหงื่อออก มือเท้าสั่น
    รู้สึกหอบและเจ็บหน้าอก
    รู้สึกร้อนวูบวาบ หรือหนาวขึ้นมาอย่างกะทันหัน
    เกิดอาการเหน็บคล้ายเข็มทิ่มที่นิ้วมือหรือเท้า
    วิตกกังวลหรือหวาดกลัวว่าจะตาย รวมทั้งรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตได้
    กังวลว่าจะมีเหตุการณ์อันตรายเกิดขึ้นในอนาคต
    หวาดกลัวและพยายามหลีกเลี่ยงสถานที่หรือสถานการณ์อันตรายที่ทำให้รู้สึกหวาดกลัวในอดีต

อาการของโรคแพนิคที่ควรไปพบแพทย์

ผู้ที่เกิดอาการแพนิคควรพบแพทย์ทันที แม้อาการแพนิคอาจไม่เป็นอันตรายร้ายแรง แต่ผู้ที่เกิดอาการแพนิคมักรับมือกับอาการของตัวเองได้ยาก หากไม่ได้รับการรักษากับแพทย์อย่างเหมาะสมและต่อเนื่องให้หาย อาการแพนิคจะแย่ลงเรื่อย ๆ


การวินิจฉัยโรคแพนิค

เบื้องต้นแพทย์จะสอบถามประวัติของผู้ป่วยและตรวจร่างกาย โดยแพทย์จะตรวจเลือดเพื่อดูความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และตรวจระบบทางเดินหายใจ เพื่อวินิจฉัยสาเหตุของอาการที่เกิดขึ้นว่ามีสาเหตุมาจากโรคอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการคล้ายกับโรคแพนิคหรือไม่

หากตรวจไม่พบ ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคแพนิค โดยแพทย์จะสอบถามอาการ ความรู้สึกหวาดกลัวหรือวิตกกังวล และสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่ทำให้หวาดกลัวหรือตื่นตระหนก ผู้ป่วยควรอธิบายความรู้สึกและอาการที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยไม่ต้องกดดันตัวเอง และพยายามทำให้ตัวเองผ่อนคลายระหว่างที่พูดคุยกับแพทย์

ทั้งนี้ แพทย์อาจให้ทำแบบประเมินทางจิตวิทยา และสอบถามประวัติการใช้สารเสพติดหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อประกอบการวินิจฉัย ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่เกิดอาการแพนิคไม่จำเป็นต้องป่วยเป็นโรคแพนิคทุกคนเสมอไป โดยแพทย์จะวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคแพนิคหากผู้ป่วยมีลักษณะ ดังนี้

    เกิดอาการแพนิคบ่อโดยหาสาเหตุไม่ได้ และมีอาการแพนิคอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่า 1 เดือนขึ้นไป
    รู้สึกกังวลว่าอาการแพนิคจะยิ่งรุนแรงขึ้น กลัวว่าไม่สามารถจัดการหรือควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้ และมักเลี่ยงสถานที่ที่คิดว่าจะทำให้เกิดอันตราย
    อาการแพนิคที่เกิดขึ้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากการใช้สารเสพติด การใช้ยาบางอย่าง หรือปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ เช่น โรคกลัวสังคม หรือโรคย้ำคิดย้ำทำ

การรักษาโรคแพนิค

ผู้ป่วยโรคแพนิคที่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จะมีอาการแพนิคน้อยลงและสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ การรักษาโรคแพนิคจะขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ป่วย ประวัติการรักษา ความรุนแรงของโรค และความพร้อมในการเข้ารับการรักษากับนักจิตบำบัดหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง วิธีรักษาโรคแพนิคมีรายละเอียด ดังนี้


1. จิตบำบัด

วิธีนี้ช่วยรักษาอาการแพนิคและโรคแพนิคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้ป่วยจะเข้าใจอาการแพนิคและโรคแพนิคมากขึ้น รวมทั้งเรียนรู้วิธีที่จะรับมือกับอาการป่วยของตนเอง วิธีจิตบำบัดที่ใช้รักษาโรคแพนิค เช่น

การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT)
การบำบัดความคิดและพฤติกรรมจะปรับวิธีคิด พฤติกรรม และการตอบสนองต่อความรู้สึกหวาดกลัวหรือตื่นตระหนกที่เกิดขึ้น

นักจิตบำบัดจะสอบถามว่าผู้ป่วยตอบสนองและรู้สึกอย่างไรเมื่อเกิดอาการแพนิคเพื่อช่วยในการบำบัด โดยจะเริ่มบำบัดจากการปรับความคิดที่บิดเบือนไปจากความจริง เพื่อให้รับรู้ความเป็นจริงและมองสิ่งต่าง ๆ ในแง่บวกเมื่อเกิดอาการแพนิคอย่างไม่มีสาเหตุ

การบำบัดด้วยการเผชิญหน้า (Exposure Therapy)
การบำบัดด้วยวิธีนี้เป็นเทคนิคการบำบัดที่คล้ายกับวิธีรักษาโรคกลัว ซึ่งให้ผู้ป่วยค่อย ๆ เผชิญหน้ากับความกลัวภายใต้การดูแลของนักจิตบำบัด เมื่อผู้ป่วยเริ่มคุ้นชินก็จะสามารถรับมือกับอาการแพนิคที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น การบำบัดนี้ยังช่วยให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงสถานที่หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งผู้ป่วยคาดว่าทำให้เกิดอาการแพนิคน้อยลงด้วย

นอกจากการเข้ารับการรักษาด้วยวิธีจิตบำบัด การฝึกลมหายใจและฝึกการคิดเชิงบวกก็ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายและสามารถรับมือกับอาการแพนิคได้ง่ายขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยโรคแพนิคมักหายใจถี่กว่าปกติ หากผู้ป่วยฝึกหายใจช้า ๆ จะช่วยให้สามารถรับมือกับอาการแพนิคได้


2. การรักษาด้วยยา

ยาที่ใช้รักษาโรคแพนิคมีหลายกลุ่ม เช่น

กลุ่มยาต้านซึมเศร้า
ยากลุ่มนี้มักใช้รักษาอาการซึมเศร้าและปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ เช่น

    ยาเอสเอสอาร์ไอ (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors: SSRI) ซึ่งจะช่วยเพิ่มระดับสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่าเซโรโทนิน (Serotonin) เช่น ฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) พาร็อกซิทีน (Paroxetine) และเซอร์ทราลีน (Sertraline)
    ยาเอสเอ็นอาร์ไอ (Serotonin and Norepinephrine Reuptake Inhibitors: SNRIs) เช่น เวนลาฟาซีน (Venlafaxine) และดูล็อกซีทีน (Duloxetine)
    ยาไตรไซลิก (Tricylics Antidepressants) ใช้เมื่อผู้ป่วยที่อาการไม่ดีขึ้นหลังจากได้รับยา SSRI เช่น อิมิพรามีน (Imipramine) และโคลมิพรามีน (Clomipramine)

ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines)
ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีนจัดเป็นยาระงับประสาท ซึ่งช่วยลดอาการแพนิคได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น อัลปราโซแลม (Alprazolam) และโคลนาซีแพม (Clonazepam) แต่ยากลุ่มนี้จะใช้รักษาในระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากผู้ป่วยอาจเกิดอาการเสพติดได้


ยากันชัก เช่น พรีกาบาลิน (Pregabalin) โดยยาจะช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวลให้ทุเลาลงได้

การใช้ยารักษาโรคแพนิคอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น คลื่นไส้ ปวดหรือเวียนศีรษะ ท้องผูก ท้องเสีย ตามัว ปากแห้ง นอนหลับยาก มีผื่นขึ้นที่ผิวหนัง เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง อารมณ์ทางเพศลดลง เป็นต้น จึงควรใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ไม่ควรหยุดใช้ยาเอง และไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ หากผลข้างเคียงจากการใช้ยาไม่ทุเลาลง ควรปรึกษาแพทย์


ภาวะแทรกซ้อนของโรคแพนิค

โรคแพนิคเป็นโรคที่รักษาได้ โดยผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์และเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้ป่วยโรคแพนิคจะหายได้หากได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มป่วยเป็นโรคดังกล่าว ในทางตรงกันข้าม ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษา อาจได้รับผลกระทบในการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมทั้งเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพทางจิตอื่น ๆ ตามมา ดังนี้


โรคกลัวที่ชุมชน (Agoraphobia)

ผู้ป่วยโรคแพนิคอาจมีโรคกลัวที่ชุมชน ทำให้ผู้ป่วยกังวลว่าอาจเกิดอาการแพนิคเมื่อออกไปข้างนอก อายที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองให้เป็นปกติ หรือกลัวว่าจะได้รับความช่วยเหลือไม่ทันหากอาการแพนิคกำเริบ จึงไม่กล้าเดินทางไปข้างนอกเพียงลำพัง


หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมต่าง ๆ

ผู้ป่วยอาจเลี่ยงหรือไม่ทำสิ่งต่าง ๆ หากสิ่งนั้นจะทำให้เกิดอาการแพนิค พฤติกรรมหลีกเลี่ยงนี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิต มีปัญหาในการเรียน การทำงาน ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และไม่สามารถดำเนินชีวิตตามปกติได้


โรคจิตเวช

ผู้ป่วยโรคแพนิคมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคจิตเวชอื่นร่วมด้วย เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และอาจเกิดความคิดฆ่าตัวตาย

ปัญหาอื่น ๆ

ผู้ป่วยโรคแพนิคอาจเกิดความกังวลว่าตัวเองจะมีปัญหาสุขภาพมากกว่าคนทั่วไป และเสี่ยงต่อการใช้สารเสพติดหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ได้สูง ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความเครียดหรือรู้สึกกังวลมากขึ้น


การป้องกันโรคแพนิค

โรคแพนิคเป็นปัญหาสุขภาพทางจิตที่ป้องกันได้ยาก อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกิดอาการแพนิคหรือป่วยเป็นโรคนี้สามารถดูแลตัวเองเพื่อไม่ให้เกิดความเครียดมากขึ้น และเกิดอาการแพนิคน้อยลงได้ ดังนี้

    หลีกเลี่ยงดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม
    ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานยาหรือสมุนไพรรักษาอาการป่วยต่าง ๆ เนื่องจากอาจมีส่วนประกอบที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพนิคได้
    ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบถ้วน
    นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อลดอาการง่วงระหว่างวัน
    เข้ารับการรักษาจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งฝึกรับมือกับความเครียด เช่น ฝึกหายใจลึก ๆ หรือเล่นโยคะ เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายขึ้น
    ฝึกคิดหรือมองโลกในแง่บวก ลองนึกถึงสถานที่หรือเหตุการณ์ที่ทำให้จิตใจสงบหรือผ่อนคลาย และเพ่งความสนใจไปที่ความคิดดังกล่าว วิธีนี้จะช่วยลดความวิตกกังวลของผู้ป่วย และช่วยปรับความคิดของผู้ป่วยที่มีต่อตนเองและสิ่งรอบข้างให้ดีขึ้น
    เมื่อเกิดอาการแพนิคขึ้นมา ควรพยายามตั้งสติ พุ่งความสนใจไปยังสิ่งที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย รวมทั้งหายใจให้ช้าลง โดยนับหนึ่งถึงสามเมื่อหายใจเข้าหรือออกแต่ละครั้ง เนื่องจากการหายใจเร็วจะทำให้อาการแพนิคกำเริบมากขึ้น